สุขภาพดีเริ่มต้นที่...โภชนาการครบถ้วน

30 Apr 2020 byDr. Korrakot Weratean
สุขภาพดีเริ่มต้นที่...โภชนาการครบถ้วน

"สุขภาพดี" เป็นสิ่งที่ทุกคนปรารถนา แต่การจะได้มาซึ่งสุขภาพดีนั้นจำเป็นต้องสร้างขึ้นด้วยตนเอง ไม่ใช่เรื่องที่ผู้อื่นจะทำแทนได้ หรือเรื่องง่ายที่จะหาซื้อด้วยเงินทอง การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมชีวิต (Lifestyle modification) เพื่อสร้างสุขภาพดีประกอบด้วยปัจจัยหลัก 3 ประการ คือ อาหาร ออกกำลังกาย และอารมณ์ ซึ่งสอดคล้องกับ Meta-analysis ของ Yamaoka และคณะ1 ที่พบว่า ผู้ที่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมชีวิตมีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวานน้อยกว่าถึงร้อยละ 46 เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม  โดยเรื่องโภชนาการเป็นปัจจัยสำคัญที่มีอิทธิพลต่อสุขภาพอย่างยิ่ง เพราะคนเราต้องรับประทานอาหารทุกวัน ดังนั้น ถ้าเราเลือกรับประทานอาหารได้อย่างถูกต้อง เหมาะสมกับความต้องการของร่างกาย อาหารเหล่าเปรียบเสมือนยาที่ช่วยทำให้สุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์

แต่ในชีวิตจริง แม้ผู้คนส่วนใหญ่จะทราบว่าอาหารเป็นสิ่งสำคัญที่มีผลต่อสุขภาพ แต่ก็ยังยึดติดกับรสชาติของอาหารมากกว่าที่จะคำนึงถึงคุณค่าทางโภชนาการ ซึ่งยืนยันได้จากผลสำรวจการบริโภคของคนไทยโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 25602 พบว่า คนไทยส่วนใหญ่เลือกซื้ออาหารตามความชอบ รสชาติ และความอยากรับประทาน มากกว่าคำนึงถึงคุณค่าทางโภชนาการ นอกจากนี้ ผลสำรวจยังชี้ให้เห็นว่า เมื่อเปรียบเทียบข้อมูลในปี 2556 กับ ปี 2560 คนไทยมีแนวโน้มรับประทานอาหารรสหวานและรสเค็มมากขึ้น ในขณะที่รับประทานผัก ผลไม้ลดลง จึงไม่น่าแปลกใจที่พฤติกรรมดังกล่าวส่งผลให้คนไทยมีแนวโน้มเจ็บป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs; Non-Communicable Diseases) เพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย



คงยังไม่สายที่เราทุกคนควรเริ่มหันมาใส่ใจสุขภาพโดยเริ่มต้นด้วยการเลือกรับประทานอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการครบถ้วน ซึ่งคำว่า “ครบถ้วน” นั้น หมายถึง ครบถ้วนทั้งปริมาณและสารอาหารที่มีความจำเป็นต่อการทำงานของร่างกาย โดยทั่วไป ถ้าในทุกวัน ทุกมื้อ เราสามารถรับประทานอาหารตามปกติได้ครบถ้วนทั้ง 5 หมู่ ในปริมาณที่เหมาะสม ถือว่าเป็นวิธีที่ดีที่จะได้รับสารอาหารและโภชนาการที่ครบถ้วน แต่อย่างไรก็ตาม มีกลุ่มคนบางกลุ่มที่ไม่สามารถรับประทานอาหารได้ในปริมาณที่เพียงพอ หรือไม่สามารถรับประทานอาหารได้ครบถ้วนทั้ง 5 หมู่ เช่น ผู้สูงอายุที่มีปัญหาเรื่องฟันทำให้ไม่สามารถเคี้ยวอาหารได้ หรือมีปัญหาเรื่องการรับรสชาติที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้มีอาการเบื่ออาหาร รับประทานอาหารได้น้อยลง

จากการศึกษาของ Cereda และคณะ3 พบว่า ผู้สูงอายุที่อยู่ในชุมชนหรือผู้สูงอายุที่พักฟื้นที่บ้าน มีความเสี่ยงต่อภาวะทุพโภชนาการ ร้อยละ 27 ส่วนผู้สูงอายุที่เจ็บป่วยและต้องรักษาตัวในโรงพยาบาลมีความเสี่ยงต่อภาวะทุพโภชนาการถึงร้อยละ 50  นอกจากนี้ ยังรวมไปถึงกลุ่มผู้ป่วยบางโรคที่อาจจะมีผลข้างเคียงจากการรักษาโรคที่เป็นอยู่แล้วส่งผลกระทบต่อการรับประทานอาหาร เช่น ผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับการฉายแสงหรือเคมีบำบัด มักจะมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน หรือเบื่ออาหาร ทำให้ผู้ป่วยเหล่านี้รับประทานอาหารได้ไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย ผลจากหลายการศึกษา พบว่า ผู้ป่วยโรคมะเร็งมีความชุกในการเกิดภาวะทุพโภชนาการ ร้อยละ 25-704 สอดคล้องกับการศึกษาผู้ป่วยในโรงพยาบาลของยุโรป ที่รายงานว่า ผู้ป่วยมะเร็ง 1 ใน 3 มีภาวะเสี่ยงต่อภาวะทุพโภชนาการและต้องได้รับโภชนบำบัด5-6  ซึ่งทั้งผู้สูงอายุและผู้ป่วยจึงถือว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะเกิดภาวะทุพโภชนาการ หรือภาวะขาดสารอาหารขึ้นได้มากกว่ากลุ่มคนทั่วไปที่สามารถรับประทานอาหารได้เองตามปกติ อาหารทางการแพทย์สูตรครบถ้วน จึงถือเป็นทางเลือกหนึ่งที่ช่วยเสริมพลังงาน และสารอาหารให้กับผู้ที่เสี่ยงต่อการเกิดภาวะทุพโภชนาการ ซึ่งจะส่งผลให้ภาวะโภชนาการดีขึ้น ร่างกายแข็งแรง พร้อมรับกับแผนการรักษาของแพทย์ อีกทั้งยังช่วยลดภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดจากภาวะทุพโภชนาการอีกด้วย7 หลักการเลือกอาหารทางการแพทย์ให้เหมาะสมกับผู้ใช้นั้น ควรคำนึงถึงปัจจัยต่าง ๆ ต่อไปนี้ พิจารณาช่องทางที่ผู้ป่วยจะได้รับอาหารว่านำไปดื่มเสริมเองทางปาก หรือนำไปให้ทางสายให้อาหาร เช่น ถ้าใช้ดื่มเสริมเองทางปาก ควรต้องเลือกอาหารที่มีรสชาติ กลิ่น และเนื้อสัมผัสที่ดี เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถดื่มได้ง่าย และยอมรับที่จะดื่มเสริม นอกจากนี้ควรพิจารณาร่วมกับคุณค่าทางโภชนาการของอาหารทางการแพทย์ โดยควรประกอบด้วยสารอาหารต่าง ๆ ครบถ้วน ได้แก่ คาร์โบไฮเดรต โปรตีน ไขมัน วิตามิน และแร่ธาตุ ในสัดส่วนและปริมาณที่เหมาะสมกับความต้องการของผู้ป่วยในภาวะที่เป็นอยู่7-9



จากคำแนะนำเรื่องความต้องการโปรตีนในผู้สูงอายุและผู้ป่วยที่พักรักษาตัวในโรงพยาบาล  พบว่า ควรได้รับโปรตีนที่เพิ่มขึ้นกว่าคนปกติทั่วไป เนื่องจากภาวะของร่างกายที่มีการสลายมากกว่าการสร้าง ร่วมกับอาจจะมีภาวะอักเสบ   ติดเชื้อ หรือแผลกดทับ ส่งผลให้ร่างกายมีความต้องการโปรตีนเพิ่มขึ้น โดยแนะนำโปรตีนคุณภาพดี ปริมาณ 1.2 กรัม/น้ำหนักที่ควรจะเป็น/วัน10 ปัจจุบันเราจึงพบว่า มีการใช้เวย์โปรตีนมาเป็นส่วนผสมของอาหารทางการแพทย์ เพื่อช่วยเพิ่มโปรตีนในการเสริมสร้างและรักษามวลกล้ามเนื้อของผู้สูงอายุและผู้ป่วยที่มักจะเสี่ยงต่อการสลายของมวลกล้ามเนื้อ

 

สุดท้าย ควรจะต้องเข้าใจถึงวัตถุประสงค์ในการใช้อาหารทางการแพทย์ได้อย่างถูกต้องสอดคล้องกับภาวะโภชนาการของแต่ละบุคคล โดยถ้าประเมินภาวะโภชนาการของผู้ป่วยแล้ว พบว่า ผู้ป่วยมีภาวะขาดพลังงานและสารอาหาร ไม่สามารถรับประทานอาหารตามปกติได้เพียงพอ ควรพิจารณาใช้อาหารทางการแพทย์แบบเสริมพลังงานและสารอาหาร (Supplementation) ให้กับผู้ป่วย แต่ถ้าประเมินแล้วพบว่า ผู้ป่วยมีภาวะโภชนาการเกิน หรือมีการรับประทานอาหารบางมื้อยังไม่สมดุลตามหลักโภชนาการ ควรพิจารณาใช้อาหารทางการแพทย์เพื่อทดแทนมื้ออาหาร (Meal Replacement) เช่น ผู้ป่วยที่มีโรคอ้วนที่ต้องการลดน้ำหนักตัว ควรใช้อาหารทางการแพทย์ในการทดแทนมื้ออาหารมื้อใดมื้อหนึ่ง เพื่อควบคุมพลังงานของอาหารที่รับประทานในแต่ละวัน หรือ คนวัยทำงานที่ไม่ค่อยไม่มีโอกาสรับประทานอาหารเช้าที่ครบถ้วนคุณค่าทางโภชนาการ ก็สามารถใช้อาหารทางการแพทย์สูตรครบถ้วนเป็นมื้อเช้าทดแทนมื้อเช้าแบบเดิมที่แม้จะใช้พลังงาน แต่มีสารอาหารไม่ครบถ้วน

ดังนั้น การสร้างสุขภาพดีเป็นเรื่องไม่ง่าย แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้ เพียงแค่เราเริ่มลงมือทำอย่างจริงจังและต่อเนื่อง สุขภาพดีที่หวังไว้คงไม่ใช่แค่ความฝันอีกต่อไป เราสามารถเป็นผู้กำหนดสุขภาพของตนเองได้ ขอเพียงเริ่มต้นทุกวันด้วยโภชนาการที่ครบถ้วน ถือเป็นก้าวแรกที่จะพาทุกคนไปสู่ "สุขภาพดี"

References:

1.              Yamaoka K, Nemoto A, Tango T. Comparison of the Effectiveness of Lifestyle Modification with Other Treatments on the Incidence of Type 2 Diabetes in People at High Risk: A Network Meta-Analysis. Nutrients. 2019;11(6). pii: E1373. doi: 10.3390/nu11061373.

2.             The 2017 Food consumption behavior survey. [Internet]. Bangkok: [cited 2020 March 20] Available from: http://www.nso.go.th/sites/2014en/the-2013-food-consumtion-behaviour-survey

3.             Cereda E, Pedrolli C, Klersy C, Bonardi C, Quarleri L, Cappello S, et al. Nutritional status in older persons according to healthcare setting: A systematic review and meta-analysis of prevalence data using MNA®. Clin Nutr. 2016;35(6):1282-1290.

4.             Ryan AM, Power DG, Daly L, Cushen SJ, Ní Bhuachalla Ē, Prado CM. Cancer-associated malnutrition, cachexia and sarcopenia: the skeleton in the hospital closet 40 years later. Proc Nutr Soc. 2016;75(2):199-211.

5.             Hébuterne X1, Lemarié E, Michallet M, de Montreuil CB, Schneider SM, Goldwasser F. Prevalence of malnutrition and current use of nutrition support in patients with cancer. JPEN J Parenter Enteral Nutr. 2014;38(2):196-204.

6.             Planas M, Álvarez-Hernández J, León-Sanz M, Celaya-Pérez S, Araujo K, García de Lorenzo A et al. Prevalence of hospital malnutrition in cancer patients: a sub-analysis of the PREDyCES® study. Support Care Cancer. 2016;24(1):429-435.

7.             Volkert D, Beck AM, Cederholm T, Cruz-Jentoft A, Goisser S, Hooper L, et al. ESPEN guideline on clinical nutrition and hydration in geriatrics. Clin Nutr. 2019;38(1):10-47.

8.             Mueller CM, editor. The ASPEN Adult Nutrition Support Core Curriculum, 3rd ed., Silver Spring, MD: American Society for Parenteral and Enteral Nutrition; 2017.

9.             สมาคมผู้ให้อาหารทางหลอดเลือดดําและทางเดินอาหารแห่งประเทศไทย. คําแนะนําการดูแลทางโภชนาการในผู้ป่วยผู้ใหญ่ที่นอนในโรงพยาบาล พ.ศ. 2560 [อินเทอร์เน็ต]. กรุงเทพมหานคร; 2560 [วันที่อ้างถึง 20 มีนาคม 2560]. ที่มา: http://www.spent.or.th/uploads/event/20171219_5a38b6392af47_guidelines%20EN%20final.pdf

10.            Vasse E, Beelen J, de Roos NM, Janssen N, de Groot LC. Protein intake in hospitalized older people with and without increased risk of malnutrition. Eur J Clin Nutr. 2018;72(6):917-919.