บทบาทของยาต้านไวรัสชนิดรับประทานในการรักษาโควิด-19: ใครควรได้รับ เมื่อไร และอย่างไร?

22 Feb 2023
Dr. Roger Paredes
Dr. Roger Paredes
Dr. Nicola Petrosillo
Dr. Nicola Petrosillo
Dr. Petrick Periyasamy
Dr. Petrick Periyasamy
Dr. Roger Paredes
Dr. Roger Paredes
Dr. Nicola Petrosillo
Dr. Nicola Petrosillo
บทบาทของยาต้านไวรัสชนิดรับประทานในการรักษาโควิด-19: ใครควรได้รับ เมื่อไร และอย่างไร?

แม้ประเทศส่วนใหญ่ได้ผ่อนปรนมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดไปแล้ว แต่ไม่ควรชะล่าใจในการจัดการกับโควิด-19 ซึ่งยังคงทำให้เกิดการเจ็บป่วยและเสียชีวิตอย่างมีนัยสำคัญ

ในงานสัมมนาเมื่อเร็ว ๆ นี้ ผู้เชี่ยวชาญที่ได้รับการยกย่องอย่าง Dr. Roger Paredes หัวหน้าแผนกโรคติดเชื้อแห่งโรงพยาบาล Universitari Germans Trias i Pujol เมืองบาดาโลนา แคว้นกาตาลุญญา ประเทศสเปน และ Dr. Nicola Petrosillo หัวหน้าแผนกป้องกันและควบคุมการติดเชื้อและบริการด้านโรคติดเชื้อแห่งโรงพยาบาลมหาวิทยาลัย Campus Bio-Medico กรุงโรม ประเทศอิตาลี ได้ให้มุมมองระดับสากลเกี่ยวกับความต้องการที่ยังคงไม่ได้รับการตอบสนองในภาพรวมสำหรับผู้ป่วยนอกที่ติดเชื้อโควิด-19 และพูดคุยเกี่ยวกับบทบาทของทางเลือกการรักษาด้วยยาต้านไวรัสในผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงที่จะพัฒนาไปสู่โควิด-19 ขั้นรุนแรง โดย Dr. Petrick Periyasamy หัวหน้าหน่วยโรคติดเชื้อ แผนกการแพทย์ ศูนย์การแพทย์ UKM กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย เป็นประธานในการประชุมครั้งนี้

ความท้าทายของโควิด-19 และความต้องการที่ไม่ได้รับการตอบสนอง
แม้ว่าเกือบร้อยละ 70 ของประชากรโลกจะได้รับวัคซีนโควิด-19 ไปแล้วอย่างน้อย 1 โดส แต่โควิด-19 ยังคงเป็นปัญหาสุขภาพที่ดำเนินอยู่ต่อไป [https://ourworldindata. org/covid-vaccinations?country=OWID_WRL]

“การติดเชื้อโควิด-19 เป็นระลอกซ้ำ ๆ นำไปสู่การเสียชีวิตที่มากเกินปกติ รวมถึงความอ่อนเพลียจากภาวะลองโควิด” Dr. Petrosillo กล่าวด้วยความเสียใจ “ตามประมาณการล่าสุดของ WHO พบว่า อัตราการเสียชีวิตที่สูงเกินปกติทั่วโลกเนื่องมาจากโควิด-19 มีแนวโน้มเกิน 3 ล้านคนในปี  พ.ศ. 2563 [www.who.int/data/stories/the-true-death-toll-of-covid-19-estimating-global-excess-mortality] แม้ว่าไวรัสจะส่งผลให้เกิดโรคในระดับเล็กน้อยหรือปานกลาง ผู้ป่วยก็อาจมีอาการต่อเนื่องได้" เขากล่าวเสริม จากการศึกษาประเมินได้ว่าร้อยละ 80 ของผู้ป่วยที่ติดเชื้อ SARS-CoV-2 จะมีอาการระยะยาวตั้งแต่หนึ่งอาการขึ้นไป เช่น อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ โรคสมาธิสั้น และหายใจลำบาก เป็นต้น [Sci Rep 2021;11:16144]

ความท้าทายในปัจจุบัน ได้แก่ การเกิดเชื้อกลายพันธุ์ที่น่ากังวล (Variants of Concern, VOC) อัตราการฉีดวัคซีนที่ชะลอตัวลง และการรับวัคซีนเข็มกระตุ้นจำนวนน้อยลง ภูมิคุ้มกันที่ลดลง การติดเชื้อหลังได้รับวัคซีนครบโดสแล้ว และการแพร่เชื้ออย่างต่อเนื่อง [Vaccines 2021;9:160-424; Nature 2023;613:7]

กลยุทธ์การจัดการกับโควิด-19 มีการพัฒนาอยู่ตลอดเวลา โดยมีการฉีดวัคซีนเป็นแกนหลักในการจัดการ (รูปที่ 1) “การฉีดวัคซีนมีประสิทธิภาพในการลดความรุนแรงของโรคได้ แต่มีผลในการป้องกันการแพร่เชื้อได้น้อยกว่า ทั้งนี้โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อผู้สูงอายุและผู้ที่มีโรคประจำตัวอย่างมาก ซึ่งผู้ป่วยเหล่านี้เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลและเสียชีวิตเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นการรักษาผู้ป่วยนอกในผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเป็นโรครุนแรงจึงเป็นกลยุทธ์สำคัญในการลดผลลัพธ์ที่ไม่พึงประสงค์ของผู้ป่วย” Dr. Petrosillo กล่าว



การระบุและการจัดลำดับความสำคัญของผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรง
ในช่วงปลายปี พ.ศ. 2565 WHO ได้เปิดตัวกลยุทธ์โควิด-19 ซึ่งเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการตรวจคัดกรองเบื้องต้นและการเข้าถึงการดูแลในหน่วยพยาบาลปฐมภูมิด้วยยาต้านไวรัสชนิดรับประทานสำหรับผู้ป่วยกลุ่มเปราะบาง [https://rb.gy/bl3ypf] “ผู้ป่วยกลุ่มเปราะบางเหล่านี้ รวมถึงผู้ที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีน มีความเสี่ยงสูงที่จะมีอาการป่วยอย่างรุนแรงจากโควิด-19” Dr. Paredes กล่าว “ปัจจัยเสี่ยง ได้แก่ อายุที่มากขึ้น การตั้งครรภ์หรือการเพิ่งตั้งครรภ์ การมีโรคประจำตัวหรือความพิการ และการเป็นชนกลุ่มน้อยทางเชื้อชาติ/ชาติพันธุ์ ทั้งนี้ เกิดจากความไม่เท่าเทียมในด้านสุขภาพและสังคม โดยโรคความดันโลหิตสูงและโรคเบาหวานเป็นโรคประจำตัวที่พบได้บ่อยที่สุดในบรรดาผู้ป่วยโควิด-19 ที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล” [COVID-19 People with Certain Medical Conditions. www.cdc.gov/coronavirus/2019-ncov/need-extra-precautions/people-with-medical-conditions.html; JAMA 2020;323:2052-2059]

“ผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงสามารถพัฒนาไปสู่การเป็นโรครุนแรงได้อย่างรวดเร็ว จึงเป็นการเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการบำบัดและเยียวยาที่รวดเร็ว [Int J Environ Res Public Health 2021;18:7212; J Heart Lung Transplant 2020;39:405-407] การรักษาโควิด-19 ที่มีประสิทธิภาพและรวดเร็วไม่เพียงแค่ป้องกันการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลและภาวะเรื้อรังที่ตามมาเท่านั้น แต่ยังช่วยลดการแพร่กระจายของโรคอีกด้วย ผลที่ตามมาคือ ความเครียดในระบบการแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์จะลดลง” Dr. Petrosillo เน้นย้ำ

ทางเลือกในการรักษาด้วยยาต้านไวรัสโควิด-19
“การรักษาโควิด-19 ขึ้นอยู่กับระยะและความรุนแรงของโรค (รูปที่ 2) เนื่องจากการเพิ่มจำนวนของไวรัสจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วที่สุดหลังจากเริ่มมีอาการ ยาต้านไวรัส (เช่น กลุ่มโมโนโคลนอลแอนติบอดี (mAbs) และกลุ่มยับยั้งเอนไซม์โปรตีเอส) จะมีประสิทธิภาพมากที่สุดเมื่อใช้ตั้งแต่เนิ่น ๆ ส่วนในระยะหลังของโรคจะมีลักษณะการอักเสบและภาวะการแข็งตัวของเลือดผิดปกติ ซึ่งยาต้านการอักเสบและยาปรับภูมิคุ้มกันอาจมีประสิทธิภาพมากกว่ายาต้านไวรัสในระยะดังกล่าว” Dr. Petrosillo อธิบาย [New Engl J Med 2020;383:1757-1766]



Dr. Petrosillo ได้อธิบายเพิ่มเติมว่า mAbs ได้รับการออกแบบมาเพื่อขัดขวางการจับของสไปก์โปรตีนของไวรัสกับตัวรับ และแสดงให้เห็นว่าช่วยลดการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลเมื่อให้ยาในระยะเริ่มต้นของการติดเชื้อโควิด-19 อย่างไรก็ตาม ประสิทธิภาพยังไม่เพียงพอในการต่อกรกับบางสายพันธุ์ของ SARS-CoV-2 เช่น Omicron BA.2 ซึ่งมีสไปก์โปรตีนที่กลายพันธุ์ไปอย่างมาก [Nature 2022;602:676-681]

ยากลุ่มที่ยับยั้งเอนไซม์โปรตีเอส เช่น เนอร์มาเทรลเวียร์ (Nirmatrelvir) จะป้องกันการสร้างโปรตีนที่เกี่ยวข้องกับการเพิ่มจำนวนของไวรัส [ACS Cent Sci 2020;6:672-683] ซึ่งข้อมูลการศึกษาในหลอดทดลองระบุว่า เนอร์มาเทรลเวียร์สามารถคงประสิทธิภาพในการต่อต้าน SARS-CoV-2 VOC สายพันธุ์หลัก นั่นคือ Alpha, Beta, Gamma, Delta, Lambda, Mu และ Omicron [New Engl J Med 2022;386:1475-1477]

อย่างไรก็ตาม Dr. Petrosillo เตือนว่าการใช้พลาสมาของผู้ที่ฟื้นจากโรค (Convalescent Plasma) ไม่พบประสิทธิภาพและไม่แนะนำให้ใช้เป็นมาตรฐานในการรักษา [N Engl J Med 2022; 386:1753-1754]

บทบาทของเนอร์มาเทรลเวียร์/ริโทนาเวียร์ในแนวทางการรักษาโควิด-19
“เนอร์มาเทรลเวียร์ (Nirmatrelvir) เป็นยารับประทานที่ยับยั้งเอนไซม์โปรตีเอส 3CL ของ SARS-CoV-2 ในขณะที่ ริโทนาเวียร์ (Ritonavir) ในขนาดโดสต่ำจะออกฤทธิ์ยับยั้ง Cytochrome P450 3A4 ซึ่งเป็นการเพิ่มชีวประสิทธิผลของเนอร์มาเทรลเวียร์ ทั้งนี้การใช้เนอร์มาเทรลเวียร์และริโทนาเวียร์ร่วมกันได้รับการอนุมัติสำหรับการรักษาโควิด-19 ในผู้ใหญ่ที่ไม่ต้องการออกซิเจนเสริมและผู้ที่มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นที่จะพัฒนาไปสู่โรคโควิด-19 ที่รุนแรง” Dr. Paredes กล่าว

จากการนำเสนอหลักฐานการทดลองทางคลินิก Dr. Paredes กล่าวว่าการศึกษา EPIC-HR ระยะที่ II/III แสดงให้เห็นว่าในผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีนและไม่ได้เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล การรักษาด้วยเนอร์มาเทรลเวียร์/ริโทนาเวียร์ สามารถลดการพัฒนาไปสู่ภาวะที่รุนแรงของโรคได้ มีการสังเกตพบว่าในผู้ป่วยที่เริ่มการรักษาภายใน 3 วันนับตั้งแต่เริ่มแสดงอาการมีความเสี่ยงสัมพัทธ์ที่ลดลงร้อยละ 88.9 ในการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลอันเนื่องมาจากโควิด-19 หรือการเสียชีวิตอันเนื่องมาจากสาเหตุใด ๆ ทั้งนี้การรักษาด้วยเนอร์มาเทรลเวียร์/ริโทนาเวียร์มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับการลดลงของปริมาณไวรัส SARS-CoV-2 ถึง 10 เท่า ในวันที่ 5 เมื่อเทียบกับยาหลอก เป็นที่สังเกตว่า ผู้ป่วยทนต่อการรักษาด้วยเนอร์มาเทรลเวียร์/ริโทนาเวียร์ได้ดี โดยมีเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ร้ายแรงและเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่นำไปสู่การหยุดการรักษาน้อยกว่าเมื่อเทียบกับยาหลอก [N Engl J Med 2022;386:1397-1408]

การให้การรักษาด้วยยาเนอร์มาเทรลเวียร์/ริโทนาเวียร์ ตั้งแต่ระยะเริ่มต้น สามารถลดความเสี่ยงของการพัฒนาไปสู่การเป็นโรครุนแรงได้อย่างมากในผู้ใหญ่ที่มีอาการของโควิด-19 ซึ่งมีความเสี่ยงสูงและไม่ได้เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล โดยไม่มีข้อกังวลด้านความปลอดภัย” Dr. Paredes กล่าวสรุป

สรุปประเด็นสำคัญ
·       โควิด-19 ยังคงทำให้เกิดการเสียชีวิตและการเจ็บป่วยจำนวนมาก รวมทั้งส่งผลกระทบอย่างมากต่อประชากรกลุ่มเปราะบาง เช่น ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีภาวะโรคประจำตัว
·       การวินิจฉัยและการรักษาตั้งแต่ระยะเริ่มต้นสำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการพัฒนาไปสู่โรครุนแรงเป็นกุญแจสำคัญของการรักษาอย่างมีประสิทธิภาพด้วยยาต้านไวรัส และลดโอกาสที่จะเกิดผลลัพธ์ที่ไม่พึงประสงค์
·       เนอร์มาเทรลเวียร์/ริโทนาเวียร์มีข้อบ่งใช้สำหรับรักษาโควิด-19 ในผู้ใหญ่ที่ไม่ต้องการออกซิเจนเสริมและผู้มีความเสี่ยงมากขึ้นในการเกิดอาการของโควิด-19 ขั้นรุนแรง